ถามตอบ
 
1 | เกษตรกรมีที่ดินเป็นดินเค็ม สามารถปรับปรุง และพื้นฟูให้สามารถปลูกข้าวได้ไหม ?
(1) เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินนำมาวิเคราะห์ กับกรมพัฒนาที่ดิน แล้วเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำในการปรับปรุงดินเค็ม 
(2) ทำทางระบายน้ำเพื่อชะล้างเกลือและปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ 
(3) ปลูกสโนอแฟริกันเป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงดินหรือใช้วัสดุปรับปรุงดินอื่นๆ เช่น แกลบ/ปุ๋ยคอก 
(4) ปลูกข้าวพันธุ์ทนเค็ม คือ ขาวดอกมะลิ 105 
(5) จำนวนปักดำ 6-8 ต้นต่อจับระยะปลูก 20x20 ซม. เพื่อเพิ่มจำนวนต้นข้าวที่รอดตายมากขึ้น (6). ฉีดพ้น พด.2 อัตรา 20 ลิตร/ใช้แบ่งใส่ 4 ครั้ง คือช่วงเตรียมดิน หลังปักดำ 30,50 และ 60 วัน
 
 
2 | ทำอย่างไรเพื่อป้องกันดินเค็มไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ?
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการแพร่กระจายดินเค็ม คือ การตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่รับน้ำและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมาปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง การป้องกันการการแพร่กระจายดินเค็มทำได้ดังนี้ 
(1) ปลูกต้นไม้โตเร็วบนพื้นที่รับน้ำ เช่น ยูคาลิปตัส สะเดา 
(2) ปลูกแถบหน้าแฝกบนเนินรับน้ำที่ปลูกมันสัมปะหลังนั้น สามารถช่วนป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยรักษาความชื้นของดิน และยังช่วยลดการแพร่เกลือในพื้นที่ลุ่มได้ 
(3)ใช้น้ำจืดจากบ่อน้ำตื้นและบ่อตอกบนพื้นที่รับน้ำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร
 
 
3 | หญ้าแฝกมีความสำคัญหรือจำเป็นต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างไร ?
ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง บางพื้นที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยการนำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมมาใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดิน ด้วยทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกับน้ำ มาตรการหนึ่งที่ทรงแนะนำคือ การนำหญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์ มาใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การอนุรักษ์ดินและน้ำนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรมีการผสมผสานกันระหว่างวิธีกลและวิธีพืช เช่น พื้นที่มีความลาดชันสูง หลังจากทำคันดินแล้วควรปลูกหญ้าแฝกตามแนวคันดิน ปลูกตามแนวขอบขั้นบันไดดินเพื่อป้องกัน การพังทลายของดินหรือปลูกหญ้าแฝกบนทางระบายน้ำป้องกันน้ำไหลบ่ากัดเซาะผิวดิน ลดความเร็ว และความรุนแรงของน้ำ ทั้งยังช่วยกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกได้อีกด้วย การที่หญ้าแฝกถูกนำมาปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องดูแลหลังการปลูกมากนัก ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่นๆ อีกด้วย การอนุรักษ์ดินและน้ำซึ่งใช้วิธีกลร่วมกับปลูกหญ้าแฝกเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเอง ควรร่วมกันนำไปปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน
 
 
4 | หญ้าแฝกช่วยลดการชะล้างพังทลายของดินซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างไรบ้าง ?
หญ้าแฝกช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากมีลักษณะเด่นหลายประการ คือ เป็นพืชที่มีระบบรากลึก และแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น ระบบรากฝอยที่หยั่งลึกลงไปตามความลึกของดินช่วยเกาะยึดดินให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง จึงป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ดี ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ แถบต้นหญ้าแฝกจะช่วยกักเก็บตะกอนดิน ช่วยชะลอความเร็วและลดความรุนแรงของน้ำไหลบ่า น้ำสามารถซึมลงดินชั้นล่างได้ดีขึ้น แถบหญ้าแฝกเมื่อดักตะกอนดินทับถมกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดคันดินธรรมชาติเปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดิน ให้มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมมีส่วนช่วยฟื้นฟูและปรับปรุงดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินบริเวณรากหญ้าแฝก ช่วยให้ดินเก็บความชื้นได้นานขึ้น
 
 
5 | การฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีการฝึกอบรมหัวข้ออะไรบ้าง ?
การฝึกอบรมจะมีระยะเวลา 2 วัน 1 คืน โดยมีรายละเอียดหลักสูตร ดังนี้ วันแรก บรรยาย หัวข้อ ความลับของดิน, มหัศจรรย์ พด. กับการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน และบรรยพิเศษ โดย ปราชญ์เกษตร ฝึกปฏิบัติ ฐานเรียนรู้ทั้ง 7 ฐาน ได้แก่ ค่ายดินปัญหา 1 ดินทราย ดินตื้น ดินอินทรีย์, ค่ายดินปัญหา 2 ดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด, ค่ายดินปัญหา 3 ดินลาดชัน ชั้นดิน (หลุมดิน), การทำปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.3, ปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน, มหัศจรรย์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ, ห้องปฏิบัติการจุลินทรีย์เคลื่อนที่ เรียนรู้ชนิดจุลินทรีย์ และการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร วันที่สอง บรรยายหัวข้อ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ดิน และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, โปรแกรมคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง และบรรยายพิเศษ โดยวิทยากรพิเศษ ฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4 จุดการเรียนรู้ ได้แก่ การทำน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 และการผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6, การผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 และเรียนรู้พืชสมุนไพรใกล้ตัว, คนเอาถ่าน ได้ถ่าน น้ำส้มควันไม้, หมูหลุม แก็สชีวภาพและพลังงานทดแทนในครัวเรือน ศึกษาดูงาน ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง และฝึกทำน้ำยาอเนกประสงค์ โดยมีการทำแบบสอบถามก่อนและหลังการฝึกอบรม เพื่อใช้ประเมินในการมอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรม
 
 
6 | การเข้าฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีค่าใช้จ่ายหรือไม่และมีช่องทางการสมัครอย่างไร ?
การฝึกอบรมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีบริการที่พักและอาหารฟรี ระหว่างการฝึกอบรม ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ldd.go.th และเลือกส่งใบสมัครมาที่ 1. E-mail pakchong_ldd@hotmail.com หรือ ldd.pakchong@gmail.com 2. โทรสาร 0-2579-1562 3. ที่อยู่ทางไปรษณีย์ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 2003/61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทมฯ 10900 4. สมัครด้วยตนเองได้ที่ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน ชั้น 7 อาคาร 8 ชั้น กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กทมฯ หรือ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-579-1562, 04-475-6962, 04-475-6963 Facebook: ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน
 
 
7 | ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ให้บริการประชาชนด้านใดบ้าง ?
ศูนย์วิจัยฯปากช่อง มีพื้นที่ 625 ไร่ ตั้งอยู่ เลขที่ 70 หมู่ 3 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา โดยมีภารกิจ ดังนี้ 1. เป็นศูนย์ สาธิต ต้นแบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ 2. เป็นศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินด้านต่างๆ แก่นักวิชาการกรมพัฒนาที่ดินและผู้สนใจทั่วไป 3. พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร 4. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ให้บริการประชาชนด้านวิชาการ การพัฒนาที่ดิน และปัจจัยการผลิต ได้แก่ แจกจ่ายกล้หญ้าแฝก ปูนมาร์ล เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, 2, 3, 6 และ 7 น้ำหมักชีวภาพพด.2 รับตัวอย่างดินและน้ำของเกษตรกร ประชาชนทั่วไป ส่งวิเคราะห์ที่กรมพัฒนาที่ดิน และมีโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นต้น
 
 
8 | ต้องการให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นจะมีวิธีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างไร ?
เกษตรกรควรปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด (1) ปุ๋ยหมัก คือ วัสดุเหลือใช้ที่ย่อยสลาย ใช้เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น การระบายน้ำและอากาศดีขึ้น ทำให้ระบบรากของพืชเจริญเติบโตแผ่กระจายในดินได้กว้างขวางขึ้น จึงดูดแร่ธาตุอาหารได้มากขึ้น ในดินเหนียวควรใช้ปุ๋ยหมัก 2-4 ตัน/ไร่ ดินทรายควรใช้ 4-6 ตัน/ไร่ (2) ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ โค กระบือ ไก่ แกะ ม้า สุกร และ ค้างคาว ใช้ปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินมีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น เพิ่มความคงทนให้แก่เม็ดดิน และเป็นแหล่งธาตุอาหารให้แก่จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ในดินเหนียวควรใช้ปุ๋ยคอก 1 ตัน/ไร่ ดินทรายควรใช้ 2 ตัน/ไร่ (3) ปุ๋ยพืชสด ได้จากการไถกลบพืชปุ๋ยสดในขณะที่ยังเขียวสดอยู่ลงดิน นิยมไถกลบในช่วงออกดอกเนื่องจากให้ปริมาณไนโตรเจนสูงและมีน้ำหนักต้นสดสูง เมื่อปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายเป็นระยะเวลาประมาณ 7-14 วัน จะให้ธาตุอาหารและอินทรียวัตถุแก่ดิน จึงทำการปลูกพืชหลักที่ต้องการ นิยมใช้พืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ ด้วยเป็นพืชที่ถูกย่อยสลายได้ง่าย มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน คือ ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ และโสนอัฟริกัน
 
 
9 | การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปอเทืองมีวิธีการอย่างไร ?
การปลูกเพื่อไถกลบ 
(1) ปลูกแบบหว่าน ในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ 
(2) ปลูกแบบโรยเป็นแถวใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ โรยเมล็ดลงในแถว ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร แล้วกลบเมล็ดด้วยดินบางๆ การดูแลรักษา เมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ทำการแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้นพรวนดินกลบโคนต้น กำจัดวัชพืช ปอเทืองยังมีโรคที่เกิดจากไวรัส ลักษณะอาการคือใบจะเล็กดอกเป็นฝอย ไม่ติดฝัก ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำพื้นที่เดิม ควรตรวจหนอนและแมลงให้ทั่วแปลง ตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงระยะติดเมล็ดโดยตรวจดูตอนเช้าก่อนมีแสงแดด การเก็บเกี่ยว ปอเทืองมีอายุเก็บเกี่ยว 120-150 วัน เมื่อฝัก ให้ผลผลิตเฉลี่ย 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดปอเทืองสามารถเก็บไว้ได้นาน 1-2 ปี 
การใช้ประโยชน์ 
(1) ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด นิยมในสภาพพื้นที่ดอน โดยหว่านหรือโรยเมล็ด ก่อนการปลูกพืชหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อย่างน้อย 60-75 วัน แล้วไถกลบปอเทืองที่อายุประมาณ 45-50 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นแล้วทิ้งไว้ 14 วัน ก่อนปลูกพืชหลัก 
(2) ปลูกเป็นพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก ปลูกหลังจากพืชหลักประมาณ 1 เดือน (3) ปลูกเป็นพืชเหลื่อมฤดู โดยปลูกปอเทืองเป็นพืชที่สอง ระหว่างแถวของพืชหลักในขณะที่พืชหลักยังไม่ได้เก็บเกี่ยว แต่ใกล้ระยะเวลาหรือรอเก็บเกี่ยว - (ไถกลบปอเทือง 1 ไร่ จะได้ธาตุอาหารเทียบได้กับอินทรียวัตถุ 475 กรัมต่อไร่)
 
 
10 | พื้นที่ดินตื้นที่มีความลาดชันสูงจะมีการจัดการอย่างไรบ้าง ?
(1) ถ้าพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงต้องมีการใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ มีการใช้คูรับน้ำรอบเขา 
(2) พื้นที่ความลาดชันมากก็ใช้การคันดินเบนน้ำ คันดินชะลอความเร่งของน้ำ 
(3) พื้นที่ที่มีความลาดชันไม่มากนักก็ใช้ การไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับของความลาดเทของพื้นที่
 
 
11 | การแก้ปัญหาของดินทรายที่เราจะปลูกพืชต่างๆ ลงไปในดินทรายมีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ?
(1) ต้องมีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบลงดิน 
(2) พื้นที่ที่มีความลาดชันควรมีการปลูกพืชคลุมดิน 
(3) เลือกชนิดพืชให้เหมาะสม เช่น ปลูกพืชทนแล้ง ที่ใช้น้ำน้อย 
(4) มีการจัดการน้ำให้ใช้น้อยลง เช่น ใช้ระบบน้ำหยด 
(5) อาจใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังจากปรับปรุงบำรุงดินแล้ว
 
 
12 | ดินตื้น เราจะมีการจัดการอย่างไรสำหรับปลูกไม้ผล ?
(1) เราควรมีการจัดการเฉพาะจุดโดยขุดหลุมให้กว้างประมาณ 75X75X75 เซนติเมตร หรือเท่าที่ทำได้ 
(2) นำหน้าดินจากที่อื่นมาผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุม 
(3) ใช้วัสดุคลุมดินต่างๆ เช่น ฟางข้าว ใบแฝก คลุมโคนต้นไม้ผลเพื่อลดการระเหยของน้ำ
 
 

©2015 กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (กวจ.)
ชั้น 7 ตึก 8 ชั้น กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2579-1753 , โทรสาร 0-2579-1753
E-mail : ord_1@ldd.go.th